คำศัพท์ ของ ต้นฉบับทางเศรษฐศาสตร์และปรัชญาจากปี 1844

อิชตวาน เมซาโรช (István Mészáros (philosopher)) กล่าวว่าภาษาและคำศัพท์ของต้นฉบับฯ เป็นหนึ่งในความยากหลัก ๆ ของชิ้นงานนี้[9] เขากล่าวว่าศัพท์ที่สำคัญอย่าง "Aufhebung" สามารถแปลจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาอังกฤษได้ทั้งคำว่า "transcendence" (การอยู่เหนือ/อุตรภาพ) "suppression" (การกำจัด/การปราบ) "preserving" (การรักษา/การสงวนไว้) และ "overcoming" (การก้าวข้าม)[17] คริสโตเฟอร์ เจ. อาร์เธอร์ (Christopher J. Arthur) ให้ความเห็นว่าคำศัพท์นั้น ซึ่งปรากฏในงาน Science of Logic ของเฮเกิล มีความหมายสองแง่ในภาษาทั่วไปทั้ง "การยกเลิก" และ "การสงวนไว้"[18] อาร์เธอร์แปลศัพท์คำนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า "supersede" เมื่อเน้นการยกเลิกมากกว่า และแปลเป็นคำว่า "sublate" เมื่อเน้นการสงวนไว้มากกว่า[18] เกรกอรี เบนตัน (Gregory Benton) แปลศัพท์คำนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า "transcendence" กับ "supersession" และกล่าวว่าแนวคิดเรื่อง "critique" ของมาคส์เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเคลื่อนไหวคู่แบบนี้[19]

ความยากลำบากในการแปลคำศัพท์กรณีที่สองคือคำว่า "Entäusserung" และ "Entfremdung"[18] แม้ว่าทั้งสองแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า "alienation" เหมือนกัน แต่ "Entfremdung" มักแปลเป็นคำว่า "estrangement" (ความเหินห่าง) และ "Entäusserung" เป็นคำว่า "alienation" (ความแปลกแยก) เพื่อแยกแยะระหว่างแนวคิดทั้งสอง[20] คริสโตเฟอร์ เจ. อาร์เธอร์ กล่าวว่า "Entäusserung" เป็นศัพท์ภาษาเยอรมันที่แปลกอีกคำหนึ่งที่สามารถแปลได้เป็นทั้งคำว่า "renunciation" (การสละ), "parting with" (การจาก), "relinquishment" (การปลดเปลื้อง), "externalization" (การผันสู่ภายนอก), "divestiture" (การถอดถอนสิทธิ์ในทรัพย์สิน) และ "surrender" (การยอมแพ้) เขาเชื่อว่า "externalization" เป็นคำแปลที่ใกล้เคียงที่สุด แต่เขาเลี่ยงไม่ใช้คำนี้เพราะอาจสับสนได้กับอีกคำหนึ่งที่มาคส์ใช้ในที่อื่น: "Vergegenständlichung" หรือ "objectification" (การทำให้เป็นวัตถุ)[18] อาร์เธอร์กล่าวว่า "Entfremdung" เป็นแนวคิดที่แคบกว่า "Entäusserung" ในแง่ที่ใช้ได้ในกรณีของความเหินห่างระหว่างบุคคลเท่านั้น[18] เขามองว่าความเหินห่างเป็นสถานะ ในขณะที่ความแปลกแยกเป็นกระบวนการ[18]

โครงสร้างวิภาษวิธีของทฤษฎีของมาคส์เป็นอีกความยากหนึ่งของงานเขียน และผู้ที่ศึกษาในธรรมเนียมปรัชญาแบบปฏิฐานนิยมและประจักษนิยมอาจทำความเข้าใจในนิยามของแนวคิดที่สำคัญบางประการได้อย่างยากลำบาก นอกจากนั้น มาคส์มักเปลี่ยนความหมายของคำบางคำซึ่งยืมมาจากผู้อื่นในยุคสมัยเดียวกันเวลานำมาใช้[21]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ต้นฉบับทางเศรษฐศาสตร์และปรัชญาจากปี 1844 http://www.marxists.org/archive/marx/works/1844/ma... //openlibrary.org/books/OL20663426M //openlibrary.org/books/OL5548413M //openlibrary.org/books/OL7910951M http://www.zeno.org/Philosophie/M/Marx,+Karl/%C3%9... https://www.jacobinmag.com/2018/05/marx-humanism-e... https://www.radicalphilosophy.com/article/hegel-fe... https://www.radicalphilosophy.com/article/objectif... https://chrisarthur.net/dialectics-of-labour-marx-... https://chrisarthur.net/dialectics-of-labour-marx-...